โครงการ “เรียน-เล่น เสริมความรู้ภาคฤดูร้อน”
หลักการและเหตุผล
ในปัจจุบันพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานของตนเอง ให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีความก้าวหน้าต่อไปในอนาคตในขณะเดียวกัน ยังมีพนักงานจำนวนมากต้องรับภาระหน้าที่ ในการรับผิดชอบดูแลบุตรหลานของตนนอกเหนือการปฏิบัติหน้าที่ปกติในแต่ละวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปิดภาคการศึกษา ทำให้ไม่อาจปฏิบัติงานของตนได้อย่างเต็มความสามารถ โดยที่ ในเดือนช่วงระหว่างมีนาคม – เดือนพฤษภาคม เป็นระยะเวลาของการปิดภาคเรียนฤดูร้อนของโรงเรียนต่าง ๆ ในทุกระดับชั้น ซึ่งมีพนักงานของสำนักงาน ฯ จำนวนมากที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียนดังกล่าวและต้องรับภาระในการดูแลบุตรหลาน และเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องต่างๆ ในช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งเป็นการส่งเสริมความรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนของชาติอีกทางหนึ่ง รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานของพนักงาน
วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมความรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่เยาวชนของชาติ
- เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่พนักงานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมคมแห่งชาติ
- เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กรมไปรษณีย์โทรเลข
- เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกให้พนักงานให้มีความรักในองค์กร
- เพื่อให้พนักงานสามารถทุ่มเทและอุทิศตนให้กับการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มความสามารถและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร
- เพื่อให้เกิดสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสถาบันครอบครัวและองค์กร
- เพื่อเป็นการพัฒนาร่างกาย อารมณ์และสติปัญญาให้แก่พนักงานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
- เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการให้บริการแก่สังคมและชุมชนของหน่วยงาน
รูปแบบของโครงการ
จัดตั้งศูนย์ดูแลบุตรหลานพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่มีอายุระหว่าง 2 – 12 ปี
ในช่วงปิดภาคเรียนการศึกษาโดยเชิญคณะอาจารย์จากฝ่ายการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มาดำเนินการ ” โครงการเรียน-เล่น เสริมความรู้ภาคฤดูร้อน” ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม – 4 พฤษภาคม 2548 รวม 28 วันทำการ โดยการจัดกิจกรรมต่างๆ ภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและทัศนศึกษานอกสถานที่ เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและพัฒนาระเบียบวินัย ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อการเป็นเยาวชนที่ดีของชาติต่อไป โดยมีรายละเอียดของโครงการดังนี้
1. การแบ่งกลุ่ม เพื่อให้สามารถพัฒนาความรู้ต่างๆ ตามศักยภาพของเยาวชนได้อย่างเป็นระบบ จึงแบ่งกลุ่มเยาวชนออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้
– กลุ่มอายุ 3-6 ปี
– กลุ่มอายุ 7-12
2. เนื้อหาของกิจกรรม แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม ดังนี้
2.1 กิจกรรมกลุ่มใหญ่ หมายถึง การทำกิจกรรมร่วมกันทั้งหมด ได้แก่
– การเคารพธงชาติ
– การสวดมนต์
– การบริหาร
– การสนทนาข่าว/เหตุการณ์ประจำวัน (สำหรับสมาชิกกลุ่ม 7-12 ปี)
– เล่านิทาน (สำหรับสมาชิกกลุ่ม 2-6 ปี)
– ชมวิดีโอ
– กิจกรรมนันทนาการและกีฬา
2.2 กิจกรรมกลุ่ม หมายถึง การจัดกิจกรรมประจำวัน โดยแบ่งตามวุฒิภาวะและความสามารถของสมาชิก
ซึ่งมีขนาดของสมาชิกในกลุ่มประมาณกลุ่มละ 10-15 คน กิจกรรมยึดสมาธิในกลุ่มเป็นศูนย์กลางของกิจกรรม
และเน้นกิจกรรมแบบเรียนปนเล่น ยึดหลักให้สมาชิกมีความรู้ ความสุขและเป็นคนดี โดยกำหนดกิจกรรมเป็น 4 กลุ่มย่อย ดังนี้
– กิจกรรมกลุ่มย่อยที่ 1 ได้แก่ กิจกรรมวิชาการ/ทักษะการใช้ภาษาไทย/ทักษะทางคณิตศาสตร์
– กิจกรรมกลุ่มย่อยที่ 2 ได้แก่ กิจกรรมพัฒนาตน/การเสริมสร้างลักษณะนิสัย/ กระบวนการคิด/ทักษะทางวิทยาศาสตร์/ความคิดสร้างสรรค์
– กิจกรรมกลุ่มย่อยที่ 3 ได้แก่ กิจกรรมภาษาอังกฤษ (ฝึกทักษะการพูด-การฟัง- การอ่าน-การเขียนภาษาอังกฤษ)
โดยการเล่นเกม/ร้องเพลงแสดงบทบาทสมมติศิลปะนันทนาการ (กิจกรรมนี้เฉพาะกลุ่มสมาชิกอายุ 7-12 ปี)
– กิจกรรมย่อยที่ 4 ได้แก่ กิจกรรมพิเศษ เกมการศึกษา/ศิลปะประดิษฐ์/เสริมนิสัยรักการอ่าน/กิจกรรมเข้าจังหวะ
/กีฬา/เล่านิทานแสดงหุ่น/ชมวีดีโอ ฯลฯ
– กิจกรรมพิเศษ ได้แก่ ทัศนศึกษา อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย กีฬา
ระยะเวลาการดำเนินการ
ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม – 4 พฤษภาคม 2548
สถานที่
ณ อาคารโรงอาหารสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ค่าใช้จ่าย
เบิกจ่ายเงินสวัสดิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและบางส่วนเก็บจากพนักงานที่ส่งบุตรหลานเข้าร่วมโครงการ
ผู้รับผิดชอบโครงการ
– อาจารย์โปรแกรมวิชา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
– สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ผลการดำเนินงานตามโครงการ
จากการประเมินโครงการ พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจต่อโครงการอยู่ในระดับมากที่สุดทุกรายการ โดยกิจกรรมที่มีความพึงพอใจมากที่สุดคือ กิจกรรมพิเศษเนื่องในวันสงกรานต์