โครงการความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ระหว่าง
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
หลักการและเหตุผล
     การพัฒนาประเทศเพื่อให้สามารถก้าวสู่การแข่งขันในเวทีโลก ต้องพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาของชาติ ให้มีมาตรฐานทางวิชาการในระดับสากล จากรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545  ละนโยบายด้านการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความรู้ และเพื่อให้คนไทยทั้งปวงได้รับโอกาสเท่าเทียมกันทางการศึกษา พัฒนาคนได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต อันเป็นเงื่อนไขไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ที่พึงประสงค์
     การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นประเด็นเร่งด่วน อย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล การพัฒนาบุคลากร ทางการศึกษาทั้งภาครัฐ และ เอกชน ผู้นำชุมชน และ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นยุทธศาสตร์หลักในการสร้างกลไก และ เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญยิ่ง ในการปฏิรูปการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย อย่างมีประสิทธิภาพ
     องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทและภารกิจที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการจัดการศึกษาเพื่อท้องถิ่น และชุมชน โดยเฉพาะการพัฒนาการศึกษาในส่วนของศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย บุคลากรทางการศึกษาซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ ผู้ดูแลเด็กเล็ก ครู จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้เกิดสมรรถนะในด้านการปฏิบัติงานให้ได้ตามมาตรฐานหลักสูตร และมีความมั่นคงในวิชาชีพ
     บุคลากรทางการศึกษาสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่นยังมีเป็นจำนวนมาก ที่จะต้องได้รับการพัฒนาในการเข้าศึกษา ต่อในระดับปริญญาตรี และปริญญาโททางด้านการศึกษา จากการที่บุคลากรประจำศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ จากกรมการพัฒนาชุมชน กรมศาสนา และ สปช. ที่ได้ถ่ายโอนจากส่วนราชการเดิมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจากศูนย์เด็กเล็กที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งขึ้นมาเองมีเป็นจำนวนมาก (ไม่น้อยกว่า 37,346 คน) มีความต้องการในการพัฒนาตนเองให้มีความรู้ ความสามารถ และมีวุฒิการศึกษาที่สามารถได้รับใบประกอบวิชาชีพ  อันจะเป็นการพัฒนาตนเองและท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น  นอกจากนี้ยังมีบุคลากรในสายบริหารขององค์กรปกครองท้องถิ่น ที่ต้องการพัฒนาตนเอง  เพื่อมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการวางยุทธศาสตร์และมาตรการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในการศึกษาทุกระดับ ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงผาสุกของสังคม ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของสังคม – เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge – Based Society and Economy)
     มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร  ทางการศึกษาซึ่งเป็นประเด็นสำคัญยิ่ง ที่จะส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาของชาติ และด้วยภารกิจที่สำคัญในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ที่ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัยให้การบริการวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมผลิตครู และส่งเสริมวิทยฐานะครู
     หน้าที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัย คือ ประสานความร่วมมือ และช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอื่นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น การเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของวิชาชีพครู ผลิตและพัฒนาครู และ บุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ และ มาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง
     ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้จัดทำโครงการความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร ทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตนั้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อม มีศักยภาพสูงในการบริหารจัดการได้อย่างดียิ่ง เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีศูนย์การศึกษาอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 21 ศูนย์ ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการบริหารจัดการโครงการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
โครงการความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพการศึกษาสำหรับบุคลากรทางการศึกษาขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
2. เพื่อการบริการวิชาการในการพัฒนาสังคมในส่วนท้องถิ่น และชุมชนให้สังคมไทยให้สังคมแห่งความรู้
3. เพื่อสร้างเครือข่ายในการบริหารการศึกษาอย่างเป็นระบบ ในการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและวิชาชีพ
4. เพื่อให้ครูและผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการพัฒนาให้มีวุฒิการศึกษาสูงขึ้น ได้รับใบประกอบวิชาชีพ และเป็นแนวทางในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติ
กลุ่มเป้าหมาย
     บุคลากรทางการศึกษา ครู อาจารย์ ผู้บริหารโรงเรียน เทศบาล และผู้อำนวยการกองการศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ขอบเขตการจัดหลักสูตรโครงการพัฒนาบุคลากร
การจัดหลักสูตรโครงการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น จัดเป็น 2 ระดับ ดังนี้
1. ระดับปริญญาตรี (ตามหลักสูตร 5 ปีของผู้ที่จะได้รับใบประกอบวิชาชีพครู)
     – โปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย
2. ระดับปริญญาโท

ที่มา : http://dusitcenter.dusit.ac.th/about